บุคลากรฝ่ายไอทียอมลำบากที่จะรักษารากฟันดีกว่าเผชิญความยุ่งยากในการย้ายแอพพลิเคชั่นไปสู่ระบบคลาวด์จริงหรือ?

0
1177

ผลการศึกษาระดับโลกของซิสโก้เผยผลการศึกษาความท้าทายด้านเน็ตเวิร์คของ บุคลากรฝ่ายไอที 13 ประเทศในการโยกย้ายแอพพลิเคชั่นไปสู่ระบบคลาวด์ ตอกย้ำ ‘ความจำเป็น’ ในการปรับปรุงเน็ตเวิร์คให้พร้อมสำหรับการนำธุรกิจไปสู่ระบบคลาวด์

กรุงเทพฯ – 25 พฤษภาคม 2555 – ปัจจุบัน คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการรองรับแอพพลิเคชั่นทางด้านธุรกิจ และผู้บริหารฝ่ายไอทีจำนวนมากต้องประสบปัญหาท้าทายในการปรับปรุงโครงสร้างเน็ตเวิร์คที่มีอยู่เพื่อรองรับการโยกย้ายแอพพลิเคชั่นทางด้านธุรกิจไปสู่ระบบคลาวด์ วันนี้ซิสโก้ได้เปิดเผยผลการศึกษาระดับโลก ซึ่งระบุว่า หากปราศจากแนวทางหรือกลยุทธ์ในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ที่เหมาะสมผู้บริหารฝ่ายไอทีมากกว่าหนึ่งในสาม (38 เปอร์เซ็นต์) ยอมลำบากในการรักษารากฟันหรือเผชิญความยุ่งยากในการทำรายการภาษีด้วยตนเองมากกว่าที่จะแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเน็ตเวิร์คเพื่อรองรับระบบคลาวด์ทั้งแบบไพรเวทและพับบลิค

ผลการศึกษาให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของเน็ตเวิร์คคลาวด์ (Cloud Networking) รวมถึงความคาดหวังของฝ่ายไอทีกับความเป็นจริงของเน็ตเวิร์ค นอกจากนี้ยังมีการสำรวจประสบการณ์ของบุคลากรฝ่ายไอทีเกี่ยวกับระดับความยากและเวลาที่จำเป็นต้องใช้ในการอัพเดตเน็ตเวิร์คและโยกย้ายแอพพลิเคชั่นไปสู่ระบบคลาวด์

การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบเน็ตเวิร์คคลาวด์ทั่วโลกประจำปี 2555 ของซิสโก้ ชี้ว่าแอพพลิเคชั่นเป็นส่วนสำคัญที่สุดต่อองค์กรธุรกิจในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ เช่นเดียวกับความท้าทายด้านเน็ตเวิร์คและปัญหาการหยุดชะงักของระบบระหว่างการดำเนินการ นอกจากนั้น รายงานดังกล่าวยังได้ศึกษาระยะเวลาในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ (Cloud Migration) รวมถึงความมั่นใจของบุคลากรฝ่ายไอทีในการปรับปรุงเน็ตเวิร์คของตนเองเพื่อรองรับการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนระบบคลาวด์อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบเครือข่ายคลาวด์ทั่วโลกประจำปี 2555 ของซิสโก้ เปิดเผยว่า การปรับปรุงเน็ตเวิร์คให้ทันสมัยเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ การที่จะประสบความสำเร็จในการย้ายแอพพลิเคชั่นที่มีจำนวนมากขึ้นไปสู่ระบบคลาวด์ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าเครือข่ายที่พร้อมรองรับระบบคลาวด์ (37 เปอร์เซ็นต์) เป็นองค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุด แซงหน้าดาต้าเซ็นเตอร์แบบเวอร์ช่วลไลซ์ (28 เปอร์เซ็นต์) และข้อตกลงว่าด้วยระดับการให้บริการ (SLA) จากผู้ให้บริการคลาวด์ (21 เปอร์เซ็นต์)

ผลการสำรวจนี้ต่อยอดจากดัชนีคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ (Cisco Global Cloud Index) ที่คาดการณ์ว่ากว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเวิร์กโหลดการประมวลผลในดาต้าเซ็นเตอร์จะอยู่บนระบบคลาวด์ภายในปี 2557 และแทรฟฟิกคลาวด์ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่าภายในปี 2558 จนแตะระดับ 1.6 เซตตาไบต์ต่อปี ซึ่งเท่ากับความยาวของวิดีโอที่มีความยาวถึง 4 วันของประชากรบนโลกปัจจุบัน

ภาพรวม

  • ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบเครือข่ายคลาวด์ทั่วโลกประจำปี 2555 ของซิสโก้ ซึ่งมีผู้บริหารฝ่ายไอที (IT Decision makers) กว่า 1,300 คนจาก 13 ประเทศเข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อวัดการปรับใช้บริการคลาวด์โดยบุคลากรไอทีทั่วโลก พร้อมทั้งสำรวจปัญหาท้าทายที่อาจเกิดขึ้นในการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์
  • การสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากซิสโก้ และนำออกเผยแพร่โดย Insight Express โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้องค์กรธุรกิจมีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับปัญหาท้าทายทางด้านเครือข่ายในการโยกย้ายไปสู่บริการคลาวด์
  • ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
  • รายงานฉบับสมบูรณ์มีอยู่ที่ http://www.cisco.com/go/cloudsurvey

ประเด็นสำคัญ

การปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในอนาคต

  • ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบสองในห้า (39 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่า ตนเองรู้สึกกลัวปัญหาและความท้าทายทางด้านเครือข่ายไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้ระบบคลาวด์แบบไพรเวทหรือพับบลิค จนถึงขั้นยอมที่จะรักษารากฟันหรือเผชิญความยุ่งยากในการทำรายการภาษีด้วยตนเองดีกว่าที่จะแก้ปัญหาด้านเครือข่ายให้มีความพร้อมสำหรับการปรับใช้คลาวด์
  • ขณะเดียวกัน เกือบสามในสี่ (73 เปอร์เซ็นต์) มีความมั่นใจในข้อมูลและความรู้ที่เพียงพอในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์แบบไพรเวทหรือพับบลิค อย่างไรก็ตามส่วนที่เหลือ (27 เปอร์เซ็นต์) รู้สึกว่าตนเองมีความรู้เรื่องวิธีการเล่นเกม Angry Birds มากกว่าวิธีการจำเป็นในการโยกย้ายเครือข่ายและแอพพลิเคชั่นของบริษัทไปสู่ระบบคลาวด์
  • ฝ่ายไอทีของหลายๆ องค์กรกำลังพิจารณาและวางแผนเกี่ยวกับการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ โดยเกือบหนึ่งในสี่ (24 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริหารฝ่ายไอทีระบุว่า ในหกเดือนข้างหน้า ตนเองมีแนวโน้มที่จะเห็นยานอวกาศ ม้ายูนิคอร์น หรือผี ก่อนที่จะเห็นบริษัทของตนเองเริ่มดำเนินการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์จนเสร็จสมบูรณ์
  • หากไม่มีกระบวนการและการวางแผนที่เหมาะสม กว่าหนึ่งในสี่ (31 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าตนเองจะสามารถฝึกซ้อมวิ่งมาราธอนโดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการโยกย้ายแอพพลิเคชั่นของบริษัทไปสู่ระบบคลาวด์
  • ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (76 เปอร์เซ็นต์) คาดการณ์ว่าแอพพลิเคชั่นคลาวด์ของตนเองมีแนวโน้มที่จะถูกละเมิด โดยมีเพียงหนึ่งในสี่ (24 เปอร์เซ็นต์) เท่านั้นที่มั่นใจว่ามีโอกาสที่ตนเองจะถูกฟ้าผ่ามากกว่าที่แอพพลิเคชั่นคลาวด์ของบริษัทจะถูกละเมิดอย่างไม่พึงประสงค์โดยบุคคลที่สาม

คาดว่าการปรับใช้ระบบคลาวด์จะเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในสิ้นปี 2555

  • ปัจจุบันมีผู้บริหารฝ่ายไอทีเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สามารถโยกย้ายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ไปสู่ระบบคลาวด์ และภายในสิ้นปี 2555 จำนวนดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยหนึ่งในห้า (20 เปอร์เซ็นต์) จะปรับใช้มากกว่าครึ่งหนึ่งของแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่ไปสู่ระบบคลาวด์

โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการปรับใช้ระบบคลาวด์

  • เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการย้ายแอพพลิเคชั่นมากขึ้นไปสู่ระบบคลาวด์ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่าเครือข่ายที่พร้อมรองรับระบบคลาวด์ (37 เปอร์เซ็นต์) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด แซงหน้าดาต้าเซ็นเตอร์แบบเวอร์ช่วลไลซ์ (28 เปอร์เซ็นต์) และข้อตกลงว่าด้วยระดับการให้บริการ (SLA) จากผู้ให้บริการคลาวด์ (21 เปอร์เซ็นต์)

อุปสรรคด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับการโยกย้ายสู่ระบบคลาวด์

  • ระหว่างการดำเนินการโยกย้ายสู่ระบบคลาวด์ ความปลอดภัยของข้อมูล (72 เปอร์เซ็นต์) ถูกระบุว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคทางด้านเครือข่ายที่สำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรไม่ประสบความสำเร็จในการปรับใช้บริการคลาวด์ ตามด้วยความพร้อมในการใช้งาน/เสถียรภาพของแอพพลิเคชั่นคลาวด์ (67 เปอร์เซ็นต์), การรักษาความปลอดภัยบนอุปกรณ์ (66 เปอร์เซ็นต์), ความสามารถในการตรวจสอบและควบคุมแอพพลิเคชั่นบนเครือข่าย WAN (60 เปอร์เซ็นต์) และประสิทธิภาพโดยรวมของแอพพลิเคชั่น (60 เปอร์เซ็นต์)

แอพพลิเคชั่นยอดนิยมสำหรับการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์

  • หากสามารถเลือกแอพพลิเคชั่นที่จะย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ได้เพียงอย่างเดียว ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่จะเลือกสตอเรจ (25 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยแอพพลิเคชั่นการวางแผนทรัพยากรภายในองค์กร (ERP) เพื่อบริหารจัดการ HR, ระบบการจัดการงานลูกค้าสัมพันธ์ (CRM), การจัดการซัพพลายเชน (SCM) และระบบจัดการโครงการ (20 เปอร์เซ็นต์) และต่อจากนั้นก็คือ ระบบอีเมล (16 เปอร์เซ็นต์) และโซลูชั่นการทำงานร่วมกัน (15 เปอร์เซ็นต์)

การตรวจสอบสภาพความเป็นจริงของสถานะของการโยกย้ายคลาวด์แอพพลิเคชั่น

  • เมื่อถามว่ามีแอพพลิเคชั่นใดได้ถูกโยกย้ายไปแล้ว หรือมีแผนว่าจะย้ายไปยังระบบคลาวด์แบบพับบลิคหรือไพรเวทในปีหน้า ผู้บริหารฝ่ายไอทีส่วนใหญ่ตอบว่า อีเมลและเว็บเซอร์วิส (77 เปอร์เซ็นต์) ตามมาด้วยสตอเรจ (74 เปอร์เซ็นต์) และโซลูชั่นการทำงานร่วมกัน เช่น การประชุมผ่านเว็บ และระบบรับส่งข้อความ Instant Messaging (72 เปอร์เซ็นต์)

ระยะเวลาที่คาดว่าจะต้องใช้สำหรับการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์

  • เมื่อถามเกี่ยวกับการคาดการณ์ของระยะเวลาที่ใช้ในการโอนย้ายแอพพลิเคชั่นต่างๆ เช่น การประชุมผ่านเว็บ, สตอเรจ และอีเมล์ไปสู่ระบบคลาวด์แบบไพรเวทหรือพับบลิค ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า การโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์แบบไพรเวทจะใช้เวลานานกว่าระบบคลาวด์แบบพับบลิค นอกจากนี้ เมื่อขอให้ประเมินระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการโยกย้ายระบบคลาวด์สำหรับแอพพลิเคชั่น บุคลากรฝ่ายไอทีส่วนใหญ่ระบุว่าการดำเนินการจะใช้เวลาน้อยกว่า 6 เดือน

สถานะและอุปสรรคในการปรับใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อป

  • เมื่อสอบถามเกี่ยวกับแผนการปรับใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อป ผู้บริหารฝ่ายไอที 79 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการในปัจจุบันหรืออนาคต ขณะที่ 25 เปอร์เซ็นต์กำลังใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อปอยู่แล้วในปัจจุบัน และ 35 เปอร์เซ็นต์มีแผนที่จะทำในปีหน้า ส่วนอีก 20 เปอร์เซ็นต์มีแผนที่จะปรับใช้เวอร์ช่วลเดสก์ท็อปภายใน 1-3 ปีข้างหน้า
  • เมื่อถามถึงอุปสรรคในการปรับเปลี่ยนเป็นเวอร์ช่วลเดสก์ท็อป ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ค่าใช้จ่าย (46 เปอร์เซ็นต์) คืออุปสรรคที่สำคัญที่สุด รองลงมาคือ แบนด์วิธที่จำเป็นต้องใช้ (45 เปอร์เซ็นต์), ประสิทธิภาพของเวอร์ช่วลเดสก์ท็อป (VDI) ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าของเครือข่าย WAN (37 เปอร์เซ็นต์), การผนวกรวมเข้ากับเวอร์ช่วลเดสก์ท็อป (34 เปอร์เซ็นต์) และความซับซ้อนในการปรับใช้ (33 เปอร์เซ็นต์)
  • เมื่อถามถึงเหตุผลในการย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ ผู้ตอบแบบสอบถาม 52 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า เป็นภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากองค์กรธุรกิจหรือ CIO เพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงประสิทธิภาพ และเพิ่มความคล่องตัว ขณะที่ 41 เปอร์เซ็นต์ระบุว่า เพียงแค่ดำเนินการตามแนวโน้มอุตสาหกรรมหรือองค์กรอื่นๆ เท่านั้น และ 30 เปอร์เซ็นต์เป็นเพราะความต้องการของลูกค้า

แหล่งข้อมูลที่ช่วยตัดสินใจในการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์

  • ผู้ให้บริการคลาวด์คือซอร์สหลักในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริการคลาวด์และช่วยตัดสินใจในการปรับใช้ระบบคลาวด์ (25 เปอร์เซ็นต์) รองลงมาคือ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรม (16 เปอร์เซ็นต์), องค์กรอื่นๆ ในแวดวงอุตสาหกรรมเดียวกัน (15 เปอร์เซ็นต์) และบริษัทผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (14 เปอร์เซ็นต์)

ประสบการณ์ส่วนตัวของบุคลากรฝ่ายไอทีในเรื่องการรักษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพเครือข่าย

  • ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบสองในห้า (39 เปอร์เซ็นต์) ระบุว่าตนเองไม่ไว้ใจผู้ให้บริการคลาวด์สำหรับการจัดการดูแลข้อมูลส่วนตัว เช่น เวชระเบียน และหมายเลขประกันสังคม
  • กว่าครึ่งหนึ่ง (52 เปอร์เซ็นต์) ของผู้บริหารฝ่ายไอทีระบุว่าตนเองมีประสบการณ์การใช้งานแอพพลิเคชั่นโดยรวมที่บ้านโดยใช้เครือข่ายส่วนตัว ‘ดีกว่า’ เครือข่ายของที่ทำงาน

ดร. ธัชพล โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิสโก้ ซีสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เนื่องจากการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงต้องตระหนักถึงขั้นตอนที่จำเป็นในการวางแผนโมเดลของระบบคลาวด์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร ผลการสำรวจเกี่ยวกับระบบเครือข่ายคลาวด์ทั่วโลกของซิสโก้ (Cisco Global Cloud Networking Survey) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับสิ่งที่องค์กรต่างๆ กำลังประสบพบเจอในการโยกย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดรับกับการใช้งานจริงเพื่อช่วยให้องค์กรธุรกิจเข้าใจปัญหาท้าทายในการเตรียมเครือข่ายให้พร้อมสำหรับบริการคลาวด์”